โครงการหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดน (ปชด.) เป็นโครงการที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้น เพื่อช่วยเหลือราษฎรไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ บริเวณแนวชายแดน จากกองกำลังภายนอกประเทศ รวมทั้งที่สืบเนื่องมาจากการอพยพหลบภัยจากประชาชน ในประเทศอินโดจีน ที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๐ - ๒๕๒๑ ได้มีกองกำลังต่างชาติ ได้เข้ามาปล้นสะดมภ์ เผาทำลายทรัพย์สิน บ้านเรือนราษฎรไทยที่อยู่บริเวณชายแดน รวมทั้งได้บังคับ และกวาดต้อนให้ราษฎรไทยที่อยู่ในบริเวณชายแดน ตั้งแต่ จังหวัดอุบลราชธานี, จังหวัดศรีสะเกษ, จังหวัดสุรินทร์, จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดตราด เข้าไปในประเทศกัมพูชา ทำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ตามชายแดน เกิดความเดือดร้อน โดยราษฎรจำนวนประมาณ ๘๐,๐๐๐ คน ได้รับผลกระทบจากการรบพุ่งกันโดยตรง ต้องละทิ้งถิ่นฐานที่อยู่เดิมบริเวณแนว ชายแดน ไทย - กัมพูชา ไปอาศัยอยู่กับบ้านญาติพี่น้องในพื้นที่ส่วนหลังเป็นจำนวนมาก และราษฎรอีกจำนวนประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน ได้รับผลกระทบทางอ้อม นอกจากนี้ ยังมีผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวกัมพูชาอีกจำนวนมาก ที่ได้อพยพหลบหนีจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ไม่พึงปรารถนาเข้ามาในประเทศไทยอีกหลายแสนคน จากเหตุการณ์นี้เอง จึงมีการจัดตั้งโครงการหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดน ไทย - กัมพูชาขึ้น ตั้งแต่ ปี ๒๕๒๔ โครงการหมู่บ้านปชด.จึงขยายออกไปครอบคลุมพื้นที่ชายแดนลาว พม่า และมาเลเซีย ซึ่งราษฎรไทยประสบภัยคุกคามทำนองเดียวกับด้านกัมพูชา รวมเป็นหมู่บ้านปชด. ทั้งสิ้น ๕๗๙ หมู่บ้าน คือ
บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ๑๗๒ หมู่บ้าน
บริเวณชายแดนไทย-ลาว ๒๔๑ หมู่บ้าน
บริเวณชายแดนไทย-พม่า ๙๔ หมู่บ้าน
บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ๗๒ หมู่บ้าน
การดำเนินการ
การดำเนินความช่วยเหลือราษฎรตามโครงการหมู่บ้าน ปชด.ได้ดำเนินการอยู่ ๓ ระบบคือ
๑.ระบบประชากร เพื่อรวบรวมราษฎรไทยที่อพยพหลบภัย และที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ล่อแหลมต่อภัยคุกคามต่างๆดังกล่าวเป็นอย่างมากเหล่านี้มาจัดตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ โดยให้อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับภูมิลำเนาเดิมของราษฎรเหล่านี้
๒.ระบบป้องกัน เพื่อฝึกอบรมและจัดระเบียบการป้องกันให้ราษฎรในหมู่บ้านปชด.สามารถป้องกันตนเอง และหมู่บ้าน จากภัยอันตรายที่เผชิญอยู่ได้
๓.ระบบพัฒนา เพื่อช่วยเหลือราษฎรในด้านที่อยู่อาศัย จัดหาที่ทำกินตลอดจนปัจจัยที่เกื้อกูลแก่การเกษตรต่างๆ เป็นต้น
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๒ ศูนย์อำนวยการร่วม กองบัญชาการทหารสูงสุด (ศอร.) ได้พิจารณาเห็นว่า ระบบต่างๆตามโครงการหมู่บ้าน ปชด.นั้น ล้วนเป็นการช่วยเหลือราษฎรเพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้นตามความเร่งด่วน แม้จะแก้ปัญหาเผชิญหน้าให้ราษฎรได้ แต่เนื่องจากเป็นการแก้เร่งด่วนก็ก่อให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้นมา เช่นปัญหาด้านสังคมจิตวิทยา, วัฒนธรรมและการทำมาหากินของราษฎร เป็นต้น
ศอร.จึงเห็นสมควรให้ดำเนินการช่วยเหลือทางด้านการศึกษา ซึ่งเป็นการช่วยเหลือระยะยาว และเป็นการจัดการและประสานงานการพัฒนาด้านต่างๆที่ทำไปแล้วให้ประสานกลมกลืนต่อเนื่องกัน กับทั้งเป็นการแก้ปัญหาแทรกซ้อนต่างๆไปในตัว จึงได้รายงานต่อ ฯนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหวัน ขอเงินเหลือจากการบริจาคที่ได้รับจากรัฐบาลต่างประเทศตามโครงการหมู่บ้านปชด.ด้านกัมพูชา มาเพื่อจัดตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาบริเวณชายแดน โดยมี พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เสนาธิการทหารในขณะนั้น เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ มีพลเอกสมคิด จงพยุหะ เจ้ากรมยุทธการทหาร หัวหน้าสำนักงานเลขานุการโครงการหมู่บ้านปชด. ขณะนั้นเป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิฯ
มูลนิธิฯได้เริ่มให้ทุนการศึกษาแก่บุตร ธิดา ของสมาชิกหมู่บ้าน ปชด. ในระดับมัธยมศึกษาเป็นหลักกับผู้ด้อยโอกาสที่จะศึกษาต่อจากการศึกษาภาคบังคับ เนื่องจาการขัดสนทางครอบครัว เป็นผู้มีความประพฤติดี ขยันและตั้งใจเรียนมาเป็นประจำทุกปี เริ่มมาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๓ เป็นต้นมา มูลนิธิฯจะเดินทางไปมอบทุนการศึกษาประจำปีตามกำหนดวัน เวลา สถานที่ ในท้องถิ่นตามที่กองกำลังจะกำหนด ประมาณเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ของทุกปีการศึกษา และมูลนิธิฯ ได้เป็นองค์กรสาธารณกุศล ตามประกาศกระทรวงการคลัง ลำดับที่ ๓๔๑ ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๑
วัตถุประสงค์
๑ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาจากหมู่บ้านปชด. ได้มีโอกาสศึกษาต่อสูงขึ้น ตามความสามรถและความเหมาะสมระดับสติปัญญา
๒ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาจากหมู่บ้านปชด.สามารถนำความรู้ไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
๓ เพื่อปลูกฝังและพัฒนานักเรียน นักศึกษาจากหมู่บ้าน ปชด. ให้เห็นคุณค่าของการศึกษา มีความสำนึกในความเป็นคนไทย มีความรักถิ่น รักประเทศ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
๔ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาตามโรงเรียนในถิ่นธุรกันดารให้มีความเจริญก้าวหน้าทั่วกัน
คุณสมบัติ
๑ เป็นบุตร ธิดาของสมาชิกในหมู่บ้าน ปชด.
๒ เป็นผู้ขาดโอกาสในการศึกษาต่อเนื่องจากครอบครัวยากจน
๓ มีผลการศึกษาในระดับคะแนนเฉลี่ยตลอดปีไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐ ในระดับชั้นมัธยมศึกษา และ ๓.๗๕ ขึ้นไปในระดับอุดมศึกษา
๔ มีความศรัทธาและยึดมั่นในสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
๕ มีความประพฤติดี ขยันและตั้งใจเล่าเรียนศึกษา
๖ ผู้ปกครองเต็มใจ สนับสนุน และยินยอมให้ศึกษาต่อ
๗ มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ